เจาะลึกเรื่องน่ารู้ว่า AI แย่งงานแพทย์หรือไม่ในอนาคต

ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์หรือ AI ทางการแพทย์นั้นกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ด้วยสาเหตุนี้จึงทำให้หลายคนเริ่มกังวลว่า AI นั้นจะมาแทนแพทย์หรือพูดง่ายๆ ว่า AI แย่งงานแพทย์หรือไม่ในอนาคต เพราะจากสิ่งที่เราเคยพบเจอในอดีต เทคโนโลยีหลายอย่างมักจะมาแทนที่พนักงานหรือแรงงานคนอยู่บ่อยครั้ง แต่สำหรับกรณีปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์นั้นแตกต่างออกไป เนื่องจากการทำงานของแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องพบปะกับคนไข้อย่างสม่ำเสมอนั้นมักมีความจำเป็นต้องใช้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เป็นหลัก ดังนั้นรูปแบบการทำงานจะเป็นในลักษณะที่ AI ทำงานร่วมกับแพทย์เพื่อช่วยให้การทำงานง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังที่ Dr. Chun Yuan Chiang ผู้ก่อตั้ง IHDPay Group บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านระบบ Health care payments ได้ให้ความเห็นไว้กับ CNBC ว่าเขาเชื่อว่า AI ทางการแพทย์นั้นแม้จะพัฒนาไปไกลและวิเคราะห์ได้แม่นยำสักเพียงใด แต่ AI ก็ไม่สามารถแทนที่ความสัมพันธ์และการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วยได้อย่างทัดเทียม

 

ค้นหาคำตอบผ่านมุมมองที่หลากหลายว่า AI แย่งงานแพทย์ได้หรือไม่

แม้ว่าคำศัพท์ที่ทรงพลังอย่างปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์หรือ AI กลายเป็นคำติดหูที่องค์กรต่างๆ เริ่มพูดถึงและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ในทางปฏิบัติคนที่ทำงานหน้างานอย่างบุคลากรทางแพทย์ก็มักจะรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ ว่า AI แย่งงานแพทย์หรือไม่ ดังนั้นเราลองมาฟังคำตอบจากหลากหลายมุมมองเพื่อนำไปประยุกต์ใช้และให้ AI ทำงานร่วมกับแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพแทนที่จะมาวิตกกังวลเสียดีกว่า

 

คนไข้ยังคงไว้วางใจแพทย์มากกว่าปัญญาประดิษฐ์

หากมองในมุมเทคโนโลยีนั้น ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์หรือ AI ทางการแพทย์ถือเป็นสิ่งที่พลิกโฉมการทำงานให้ดียิ่งขึ้น แต่หากมองในมุมของคนไข้ ความไว้ใจและความเชื่อใจยังถูกอิงแอบไว้กับแพทย์หรือคุณหมอเจ้าของไข้มากกว่าระบบ AI ทางการแพทย์อย่างเห็นได้ชัด โดยจากการสำรวจของ Innovative Technology Solutions พบว่า ชาวอเมริกันให้คะแนนระบบ GPS ที่ใช้งานสูงถึง 8.1 คะแนน แต่เมื่อพูดถึงสิ่งที่ใกล้ตัวอย่างเช่น สุขภาพของตนเอง โดยเมื่อถูกถามว่าเชื่อ AI วินิจฉัยโรคหรือวิเคราะห์การรักษาอาการต่างๆ หรือไม่ ผลตอบรับกลับต่ำมากเหลือเพียง 5.4 เท่านั้น และอีกตัวอย่างหนึ่งจาก Harvard Business Review ในปี 2019 ได้อธิบายถึงการสำรวจเพื่อทำการประเมินสุขภาพฟรี โดยผลปรากฏว่า 40% ยอมเข้าร่วมการประเมินถ้าหากแพทย์เป็นผู้ทำการวินิจฉัย ในขณะที่มีเพียง 26% ที่ยอมลงทะเบียนเข้าร่วมประเมินเมื่อแจ้งว่าจะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการวินิจฉัย ดังนั้นจากคะแนนที่ค่อนข้างต่ำทำให้ทราบได้ว่าคนไข้ยังขาดความไว้วางใจปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เนื่องจากกลัวว่าเทคโนโลยีจะไม่สามารถรักษาและดูแลสุขภาพของตนได้ทัดเทียมเท่าแพทย์ที่เป็นมนุษย์นั่นเอง

 

AI ไม่สามารถแสดงความเห็นอกเห็นใจได้

แม้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้นั้นถือเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาพยาบาลเป็นอย่างมาก อย่างที่ทราบกันดีว่าการเอาใจใส่ การซักถาม หรือการแสดงความห่วงใยอย่างจริงใจจากบุคลากรทางการแพทย์นั้น จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและมอบความไว้วางใจให้กับแพทย์ดำเนินการรักษาได้อย่างเต็มที่ การเอาใจใส่ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพ ดังนั้นการเพิ่มความพึงพอใจของผู้ป่วยและส่งมอบกระบวนการรักษาที่สามารถดูแลทั้งร่างกายและจิตใจได้นั้นจำเป็นจะต้องใช้มนุษย์ในการดำเนินการ เพราะหากใช้ AI เพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถจัดการความรู้สึกและความไว้วางใจที่คนไข้มีต่อกระบวนการรักษาได้

 

AI ยังไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ถูกต้องทั้งหมดหากมีข้อมูลไม่เพียงพอ

โมเดล Machine Learning นั้นยิ่งได้รับการฝึกฝนและป้อนข้อมูลมากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น แต่หากข้อมูลไม่เพียงพอ เช่น ผู้ป่วยอาจไม่เต็มใจที่จะเปิดเผยข้อมูลบางอย่าง ซึ่งในปัจจุบัน AI ยังไม่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อรับมือกับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนในลักษณะนี้ และนั่นคือสิ่งที่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะใช้ต้องทักษะและความสามารถในการพูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อค้นหาและวิเคราะห์คำตอบ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ไม่สามารถทำได้ตามลำพังอย่างแน่นอน

 

สรุปบทบาทของ AI ทางการแพทย์

หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เชื่อว่าหลายท่านคงพอจะมองเห็นว่าการที่ AI แย่งงานแพทย์นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก ในทางกลับกันเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งอาจจะถูกประยุกต์มาให้เราใช้ได้ในเร็ววัน ดังนั้นการเตรียมตัวและทำความเข้าใจว่า AI ทางการแพทย์สามารถช่วยให้แพทย์ทำงานได้ดีขึ้น เช่น AI วินิจฉัยโรค AI ช่วยจัดการข้อมูลเวชระเบียนหรือ AI ช่วยประเมินผลของอาการและโรค ซึ่งจากข้อมูลของ MIT Technology Review ประเด็นAI แย่งงานแพทย์ พบว่าการที่ AI จะเข้ามาแย่งงานแพทย์นั้นเป็นไปได้ยาก โดยแนะนำให้พิจารณาถึงการประยุกต์ใช้ AI ให้เกิดประโยชน์มากกว่า เช่น การใช้ AI ในการช่วยจัดการการทำงานของแพทย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและแม่นยำยิ่งขึ้น การใช้ AI ในการช่วยให้แพทย์สามารถตอบสนองคนไข้ในเชิงรุกมากขึ้น หรือใช้ AI ในการช่วยทำให้การคัดกรองโรคนั้นทำได้ดีและขยายในวงกว้างมากขึ้นเพื่อให้ผลลัพธ์ของการรักษานั้นออกมาดีขึ้น ดังนั้นการที่ AI ทำงานร่วมกับแพทย์จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีมากมาย ในท้ายที่สุดอยากให้มองว่า AI จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในระบบการรักษาพยาบาล ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยลดแรงกดดันและลดความซับซ้อนในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น ข้อดีของ AI ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นจะส่งผลมายังผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็วขึ้นและสามารถช่วยเหลือได้ทันเวลา

Facebook
Twitter
LinkedIn

Related Resources

If AI in medical imaging is inevitable, what should radiologists know? The insight led by Arunnit Boonrod, M.D. and lecturer at Department of Radiology, Khon Kaen University.
Have you ever heard that good AI needs a massive amount of data to learn? While that's certainly true, it's actually just one piece of the puzzle. Perceptra model team believes that true "good" AI in medical imaging goes beyond the size